การประเมินคาร์บอนฟุตปริ้น (Carbon Footprint) scope 3 กับภาคธุรกิจ (4/7): ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ
ขั้นตอนที่ 3 ประเมินความเสี่ยงและโอกาส
วิเคราะห์ระดับความรุนแรงของความเสี่ยงและโอกาสในธุรกิจ เพื่อประเมินระดับของผลกระทบ เช่นความเสี่ยงจากเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไป หรือโอกาสจากการเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความเสี่ยง
องค์กรในปัจจุบันต้องเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ส่งผลต่อการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะใน Scope 3 ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซทางอ้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ความเสี่ยงเหล่านี้แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ และความเสี่ยงจากผลกระทบทางกายภาพ องค์กรควรพิจารณาความเสี่ยง 4 ประเด็นสำคัญได้แก่
- กฎหมายและนโยบายภาครัฐ
รัฐบาลทั่วโลกกำลังเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหภาพยุโรปกำหนดให้อุตสาหกรรมเหล็กต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลง 30% ภายในปี 2030 ทำให้บริษัทเหล็กในไทยที่ส่งออกไปยุโรปต้องปรับกระบวนการผลิต หรือเสี่ยงที่จะเสียเปรียบคู่แข่ง รวมถึงนโยบายภาษีคาร์บอน เช่น ในแคนาดา ผู้บริโภคต้องจ่ายภาษีเพิ่มสำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้บริษัทขนส่งที่ใช้รถบรรทุกน้ำมันดีเซลมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจถูกลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งที่ใช้รถไฟฟ้าแทน นอกจากนั้นคดีความที่เกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต บริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่แห่งหนึ่งในยุโรป ถูกฟ้องร้องโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นในอินโดนีเซีย เนื่องจากพบว่าผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายหนึ่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้บริษัท ได้ลักลอบตัดไม้และเผาพื้นที่ป่าพรุเพื่อปลูกปาล์ม ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาสาร บริษัทต้องจ่ายค่าปรับและชดเชยความเสียหายนับล้านดอลลาร์ ทั้งยังต้องลงทุนในโครงการปลูกป่าและพัฒนาชุมชนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์
2. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
หลายองค์กรที่ยังไม่สามารถตอบสนองต่อประเด็นสภาวะโลกร้อนอย่าง บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศที่ยังใช้สารทำความเย็น R-22 ซึ่งมีค่า GWP (Global Warming Potential) สูง กำลังเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่เปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นแบบ R-32 หรือ R-410A ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และบริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอาจเสียเปรียบ เมื่อลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple หรือ Google หันไปลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และลมเพื่อใช้ในศูนย์ข้อมูล ทำให้ความต้องการไฟฟ้าจากถ่านหินลดลง
3. ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
ในปัจจุบันลูกค้าในยุโรปและอเมริกาเหนือเริ่มเลือกซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ที่ใช้วัตถุดิบรีไซเคิลหรือฝ้ายอินทรีย์ ส่งผลให้โรงงานสิ่งทอในเอเชียที่ยังใช้สารเคมีและน้ำมากๆ ในการผลิต เริ่มสูญเสียคำสั่งซื้อ รวมถึงโรงแรมที่มีการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์และมีโปรแกรมลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว Gen Z มากกว่าโรงแรมทั่วไป บางโรงแรมถึงขั้นต้องปิดตัวเพราะปรับตัวไม่ทัน
4. ชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร
การแข่งขันในธุรกิจเดียวกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ หากองค์กรไม่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการลดสภาวะโลกร้อน อาจถือเป็นความเสี่ยงสูญเสียภาพลักษณ์ กระทบต่อการรับรู้ของลูกค้าได้ อย่างเช่นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดีย เมื่อถูกจับได้ว่าปกปิดข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนจากท่อส่งน้ำมัน ทำให้หุ้นตกและสูญเสียนักลงทุนที่สนใจ ESG และแบรนด์รองเท้ากีฬาที่ใช้หนังวัวจากฟาร์มที่ตัดป่าเพื่อทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในอเมซอน ถูกแคมเปญรณรงค์ในโซเชียลมีเดีย ทำให้ยอดขายตกในกลุ่มลูกค้าอายุ 18-35 ปี
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และมุมมองสังคมต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นความเสี่ยงสำคัญที่องค์กรต้องใส่ใจและปรับตัวให้ทัน ไม่เช่นนั้นอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ลูกค้า และชื่อเสียงได้ องค์กรควรพิจารณาความเสี่ยงดังกล่าวในการประเมินความสำคัญของกิจกรรมปล่อย GHG ร่วมด้วย
โอกาส
หลายองค์กรมักคิดว่าการจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเพียงอย่างเดียวแต่ความเป็นจริงแล้ว ความพยายามในการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นมิติที่แต่ละองค์กรควรพิจารณาอย่างมากเพื่อให้เกิดการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสูงสุดในการจัดกการก๊าซเรือนกระจก การลด GHG นั้นจะไม่ใช่แค่การเพิ่มต้นทุน แต่เป็นกุญแจ สู่การปรับปรุงและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ การเจาะตลาดใหม่ พันธมิตรใหม่ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ องค์กรที่มองเห็นโอกาสนี้และปรับตัวเร็ว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโอกาสจากการจัดการก๊าซเรือนกระจกมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นกับลักษณะธุรกิจขององค์กร แต่สามารถแจกแจงได้เป็นประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ในโลกธุรกิจที่แข่งขันสูง การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร เมื่อองค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกระจายสินค้า ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแค่ลดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนอย่างเช่น บริษัทขนส่งพัสดุที่มีการใช้บริการอย่างแพร่หลายในอดีต รถขนส่งอาจวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยไม่คำนึงถึงสภาพการจราจรหรือจำนวนพัสดุที่ต้องส่งในแต่ละจุด แต่ในปัจจุบัน บริษัทชั้นนำได้นำระบบ GPS และ AI มาใช้ในการวางแผนเส้นทางแบบเรียลไทม์ ระบบจะคำนวณเส้นทางที่เร็วที่สุดโดยหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด และจัดลำดับการส่งพัสดุให้เหมาะสมกับปริมาณและความเร่งด่วน การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้พนักงานขับรถใช้เวลาและน้ำมันน้อยลง แต่สามารถส่งพัสดุได้มากขึ้น ลูกค้าได้รับพัสดุเร็วขึ้น และบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและบำรุงรักษารถได้อย่างมีนัยสำคัญ นี่ไม่ใช่แค่การประหยัดในระยะสั้น แต่เป็นการลงทุนในอนาคตที่ยั่งยืนกว่า โดยลดการปล่อย GHG และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทในฐานะองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือบริษัทผลิตสมาร์ทโฟนในเกาหลีใต้ ลงทุนเปลี่ยนหลอดไฟในโรงงานเป็น LED ทั้งหมด ช่วยลดการใช้พลังงานลง 60% และค่าไฟฟ้าลดลงปีละ 5 ล้านดอลลาร์ ทำให้คืนทุนภายใน 2 ปี และโรงงานกระดาษในสวีเดนติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำร้อนจากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ในขั้นตอนเยื่อกระดาษ ลดการใช้น้ำสะอาดลง 40% และลดพลังงานที่ต้องใช้ในการทำน้ำร้อน ประหยัดต้นทุนได้ 3 ล้านยูโรต่อปี
2. แหล่งพลังงานที่ปล่อย GHG ต่ำ
การเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ไม่ใช่เพียงทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้องค์กรที่เป็นผู้นำในการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือชีวมวล ที่สามารถแปรรูปเป็นไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงในการทดแทนกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เดิมได้ ในโลกที่ผู้บริโภค พันธมิตรทางธุรกิจ และนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่แค่การลงทุนในอุปกรณ์ แต่เป็นการลงทุนในอนาคตของธุรกิจ เป็นการสร้างความได้เปรียบที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก และเป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของคุณพร้อมจะเป็นผู้นำในโลกแห่งอนาคต ปัจจุบันองค์กรชั้นนำทั่วโลกได้ให้ความสำคัญในการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดที่ปล่อย GHG ต่ำอย่างศูนย์ข้อมูลของ Google ในเท็กซัสลงทุนในฟาร์มกังหันลม ซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมโดยตรงในราคาคงที่ 20 ปี นอกจากลด GHG แล้ว ยังป้องกันความผันผวนของราคาไฟฟ้าในระยะยาว หรือโรงแรมเครือข่ายในไทยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาสาขาต่างๆ ผลิตไฟฟ้าใช้เองคิดเป็น 30% ของความต้องการทั้งหมด ช่วยลดค่าไฟฟ้าลง 25% และคืนทุนภายใน 6 ปี นอกจากนั้นโรงงานอาหารในบราซิลใช้เศษเหลือจากการผลิตผักและผลไม้ผลิตก๊าซชีวภาพ ทดแทนก๊าซธรรมชาติในหม้อไอน้ำได้ 100% ลดต้นทุนและลด GHG ลงมาก
3. ผลิตภัณฑ์และบริการที่ลด GHG
ผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้มองแค่คุณภาพของสินค้าหรือบริการ แต่ยังสนใจว่าสิ่งที่พวกเขาซื้อส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร การแสดงออกถึงความใส่ใจในการลด GHG ไม่ใช่แค่การทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นโอกาสทองทางธุรกิจ หลายองค์กรแสดงข้อมูล รายงาน ฉลากที่แสดงถึงการช่วยลดการปล่อย GHG ของผลิตภัณฑ์และบริการของตย องค์กรอื่น ๆก็สามารถนำข้อมูลของคู่ค้าเหล่านี้มาต่อยอด คำนวณเพิ่ม และนำไปใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจตนเองได้อีกด้วย อย่างเช่น ผู้ผลิตรองเท้ากีฬาจากยุโรปร่วมมือกับซัพพลายเออร์ด้านสิ่งทอในไทย พัฒนาผ้าทอจากขวดพลาสติกรีไซเคิล PET ลดการใช้น้ำมันดิบและพลังงานในการผลิตเส้นใย ใส่ฉลาก “รองเท้ารีไซเคิล” ซึ่งสามารถขายได้ราคาสูงขึ้น 20% หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างในญี่ปุ่นใช้คอนกรีตที่ผสมเถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลด GHG ลง 50% เทียบกับคอนกรีตปกติ ซึ่งสามารถเจาะตลาดลูกค้าที่สนใจลงทุนในตึกสีเขียว (Green building) นอกจากนั้นบริษัทโลจิสติกส์ในสิงคโปร์ใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในการขนส่งระยะสั้น และรถไฟไฟฟ้าสำหรับระยะไกล ทำให้เป็น “ผู้ให้บริการขนส่งที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน” เจ้าแรกในเอเชีย ดึงดูดลูกค้าที่ต้องการลดคาร์บอนฟรุตฟริ้นท์ได้เป็นอย่างมาก
4. ตลาด
สังคมให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาโลกร้อนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิกฤตที่ทุกคนบนโลกต้องเผชิญและได้รับผลกระทบร่วมกัน มีตัวอย่างให้เห็นอย่างแพร่หลายกับบริษัทที่วางแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคอย่างแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การปลูกฝ้ายไปจนถึงการขนส่ง ผลคือบริษัทได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และมียอดขายพุ่งสูง โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลและเจนซีที่ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้น รัฐบาลทั่วโลกก็เริ่มออกกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจสีเขียว ญี่ปุ่นประกาศให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอน เยอรมนีเสนอภาษีลดหย่อนให้กับอาคารที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีโครงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทุกองค์กรตำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยในอนาคตร่วมด้วยว่าการปรับตัวให้เข้ากับตลาดใหม่นี้ อาจได้รับสนับสนุนด้านการเงินจากโครงการต่างๆ ที่รัฐสนับสนุนมากขึ้นด้วย
5. ความยืดหยุ่นขององค์กร (ภายใน)
ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลก องค์กรที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ไม่ใช่แค่องค์กรที่แข็งแกร่ง แต่ต้องเป็นองค์กรที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี และมองวิกฤตเป็นโอกาส ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตน้ำผลไม้แห่งหนึ่งที่เคยพึ่งพาการนำเข้าส้มจากแคลิฟอร์เนีย แต่เมื่อภัยแล้งรุนแรงทำให้ผลผลิตลดลงและราคาพุ่งขึ้นสูง บริษัทอื่นๆ ต่างปรับขึ้นราคาหรือลดคุณภาพลง แต่บริษัทกลับมองเห็นโอกาสผ่านการร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่นในการปลูกส้มพันธุ์ทนแล้ง ใช้เทคโนโลยีการให้น้ำ และพัฒนาระบบคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวไม่เพียงแค่มีวัตถุดิบคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันได้ แต่ยังสร้างงานให้ชุมชน และได้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยอดขายสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจความยั่งยืน และยังได้รับการยกย่องในวารสารธุรกิจชั้นนำว่าเป็น “ต้นแบบองค์กรแห่งอนาคตที่ท้าทายวิกฤตโลกร้อน” ในโลกที่โลกร้อนกำลังเปลี่ยนแปลงเป้าหมายและกลยุทธ์องค์กร องค์กรที่จะประสบความสำเร็จไม่ใช่องค์กรที่ใหญ่ที่สุดหรือเก่าแก่ที่สุด แต่เป็นองค์กรที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด มองไกลที่สุด และกล้าที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นจุดเปลี่ยนของโลก นี่คือองค์กรที่ไม่เพียงจะอยู่รอด แต่จะเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกว่าสำหรับทุกคน
ต่อมาเมื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาสของรายกิจกรรมแล้ว จำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์การประเมินความสำคัญเชิงความเสี่ยงและโอกาส และทำการประเมินความสำคัญของแต่ละกิจกรรมอ้างอิงจากผลกระทบในรูปแบบของคะแนนที่มีการกำหนดไว้ในเกณฑ์
ตัวอย่าง กำหนดเกณฑ์การประเมินความสำคัญเชิงความเสี่ยงเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ตัวอย่าง กำหนดเกณฑ์การประเมินความสำคัญเชิงความเสี่ยงเป็น 5 ระดับ ได้แก่
เมื่อเราสามารถประเมินเบื้องต้นถึงกิจกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG ที่สูงและระดับความเสี่ยงและโอกาสของรายกิจกรรมแล้ว ต่อมาอีกหนึ่งปัจจัยในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 คือการประเมินความสามารถในการติดตามข้อมูล ว่าตัวองค์กรมีความสามารถในการเข้าถึงและติดตามข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในบทต่อไปเราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดแนวทางการประเมินความสามารถในการติดตามข้อมูล ของกิจกรรมที่ปล่อย GHG
ที่มาข้อมูล
- บริษัท อิโคโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)