การประเมินคาร์บอนฟุตปริ้น (Carbon Footprint) scope 3 กับภาคธุรกิจ (1/7): ประเมิน scope 3 อย่างไร ?
การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ เพราะองค์กรต้องประเมินครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ตั้งแต่ผู้จัดหาวัตถุดิบ จนถึงการใช้และกำจัดผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ข้อมูลเหล่านี้มักกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมทั้งในต่างประเทศ บางครั้งข้อมูลอาจไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องประมาณการบางส่วน ดังนั้นองค์กรจึงต้องรวบรวมและวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ อย่างไรก็ดี การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากในบางอุตสาหกรรม ถือเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของการปล่อย GHG ทั้งหมดขององค์กร หากละเลยไป อาจส่งผลให้องค์กรพลาดโอกาสในการลดผลกระทบสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และอาจสร้างความเสี่ยงต่อองค์กรได้
ถึงแม้การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นหรือ Scope 3 เป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจทุกประเภท แต่เป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังร่วมกันรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ได้แบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่ มีปริมาณการปล่อย GHG สูง เป็นความเสี่ยงและโอกาสทางธุกิจ สามารติดตามและจัดการได้ เป็นการจัดจ้าง supplier หรือเป็นธุรกิจหลักขององค์กร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยมีกระบวนการคัดเลือกกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น (Scope 3) 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 สร้างรายการกิจกรรม Scope 3 ทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 2 ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้น
ขั้นตอนที่ 3 ประเมินความเสี่ยงและโอกาส
ขั้นตอนที่ 4 ประเมินความสามารถในการติดตามข้อมูล
ขั้นตอนที่ 5 จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรม Scope 3
ขั้นตอนที่ 6 ประเมินการจัดจ้างผู้ดำเนินการภายนอก และการมีส่วนร่วมกับพนักงานในองค์กร
โดยในบทความต่อไป จะเจาะลึกในแต่ละขั้นตอนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 3 เพื่อให้เห็นภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาข้อมูล
- บริษัท อิโคโนเวชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)